สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเข้าศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อบูรณาการการบริหารมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ระดับสากล
ระหว่างวันที่ 1 – 5 กุมภาพันธ์ 2568 สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้นำคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหาร เข้าศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการเยี่ยมชมสถานประกอบการในท้องถิ่น
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 คณะศึกษาดูงานนำโดย พลโท ชัยณรงค์ กิจรุ่งโรจน์เจริญ และ ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมสาธิตการทำเส้นโซบะแบบดั้งเดิม ณ Minamiaso Soba Dojo ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ประจำชาติโดย "โซบะ" ถือเป็นอาหารเส้นดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานกว่า 900 ปี และได้รับการยอมรับว่าเป็นอาหารพื้นถิ่นที่มีความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง มากกว่าเส้นประเภทอื่น เช่น อูด้ง โซเม็ง หรือราเม็ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นเชิงลึก หากยังเป็นเวทีในการสร้างความเข้าใจ ความสามัคคี และความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับผู้บริหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เดินทางเข้าศึกษาดูงาน ณ Yamaha Factory Terrace ซึ่งเป็นโรงงานผลิต เมนไทโกะ (ไข่ปลารสเผ็ด) ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังทั่วประเทศ
โรงงานแห่งนี้มีจุดเด่นด้านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัย และตรงตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการควบคุมคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน ถือเป็นต้นแบบของการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่สามารถต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ในช่วงบ่าย คณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัล TeamLab Forest ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมและนำเสนอการบูรณาการองค์ความรู้ด้าน เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และศิลปะ เข้าไว้ด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงในการสร้างประสบการณ์แบบอินเทอร์แอกทีฟให้กับผู้เข้าชม สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางใหม่ของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาไทยได้อย่างน่าสนใจ
การศึกษาดูงานในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหาร ทั้งในด้านการจัดการอุตสาหกรรมอาหาร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์สังคมในอนาคตอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เดินทางเข้าเยี่ยมชมและหารือความร่วมมือทางวิชาการกับผู้บริหารของ Kyushu Institute of Technology (Kyutech) ณ เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
Kyushu Institute of Technology เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญด้าน วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), พลังงาน (Energy), วิศวกรรมระบบ (System Engineering) และ วิศวกรรมอวกาศ (Space Engineering) โดยมหาวิทยาลัยประกอบด้วย 3 วิทยาเขต ได้แก่ Tobata Campus, Iizuka Campus และ Wakamatsu Campus มีนักศึกษามากกว่า 5,000 คนใน 5 คณะวิชา
สิ่งที่โดดเด่นคืออัตราการมีงานทำของบัณฑิตสูงถึง 99.8% โดยบัณฑิตส่วนใหญ่เข้าทำงานในบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เช่น NEC, Honda, Mitsubishi, Nissan, Toyota, Panasonic และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย สะท้อนถึงคุณภาพทางวิชาการและการเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้สามารถแข่งขันได้ในระดับอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหาร ได้รับฟังแนวทางการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยของ Kyutech ที่เน้น
การบูรณาการระหว่างภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและงานวิจัยขั้นสูงเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กร
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครมีแผนที่จะดำเนินการประสานความร่วมมือกับ Kyushu Institute of Technology ในด้านต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร, การวิจัยร่วม, การพัฒนาหลักสูตร รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต
การศึกษาดูงานในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยในการยกระดับมาตรฐานการจัดการศึกษาให้ทัดเทียมนานาชาติ และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในระดับสากลอย่างแท้จริง
และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นำโดยพลโทชัยณรงค์ กิจรุ่งโรจน์เจริญ และ ดร ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล เข้าพบนายโกศล สถิตธรรมจิตร กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญหลายประการเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดการศึกษา ดังนี้
- ประเทศญี่ปุ่น มีอัตราการเกิดลดลงเป็นเวลานานกว่า 13 ปี ทำให้นักศึกษาในประเทศมีจำนวนน้อยลงซึ่งเหมือนกับมหาวิทยาลัยของไทยที่มีอัตราการเกิดลดลงเช่นกัน ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานะการณ์ดังกล่าว
- สภาพสังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมีความ conservative ค่อนข้างมาก การตัดสินใจ หรือการตกลงความร่วมมือต่าง ๆ อาจทำได้ช้า
- อัตราคนไทยที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่นมีประมาณ 15,000 คน และมีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายที่ต้องการให้ลดแรงงานต่างชาติลง ในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่แรงงานในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นชาวเวียดนาม หรือเนปาล
- สำหรับการบริหารจัดการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น จะเน้นด้านสังคมศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยที่มาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเอกชน บางมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น สอนภาษาอังกฤษ แต่ครูผู้สอนจะสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น
- สำหรับมหาวิทยาลัย Kyushu institute of technology ส่วนใหญ่จะทำความร่วมมือ MOU ระยะสั้นกับสถาบันต่างชาติ เช่น ประกอบหุ่นยนต์ robotic โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
- กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบถึงปัญหาอุปสรรคของนักศึกษาที่จะมาศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น ดังนี้
6.1. มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจะใช้ภาษาญี่ปุ่นมากกว่าภาษาอังกฤษ
6.2. อุปสรรคในการใช้ชีวิตของนักศึกษาไทย ในประเด็นเรื่องของข้อกฎหมายที่เข้มงวดของประเทศญี่ปุ่น และวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนของญี่ปุ่น ตัวอย่าง กลุ่ม start up คนไทยมีการเปิดโรงแรมชื่อ ชิบะรูม ที่โคราช เพื่อทำ start up การบริการโรงแรม โดยไร้คน(บริกร) และส่งนักเรียนไทย มาศึกษาที่ญี่ปุ่น แต่ไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น เนื่องจากการเช่าบ้านพักในญี่ปุ่น ต้องมี คนญี่ปุ่นเป็นผู้การันตี ในการเช่าแต่นักศึกษาไม่สามารถอาศัยได้ ต้องพักที่ โรงแรม นานกว่า 3 เดือน ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินภาระที่รับได้ หรือความไม่เข้าใจกันระหว่าง อาจารย์ที่ปรึกษากับนักศึกษา
ทำให้การศึกษามีปัญหาอย่างต่อเนื่อง
7. กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้แนะนำว่า มหาวิทยาลัยเอกชนญี่ปุ่น จะปรับตัวได้เร็วกว่า อาทิ มหาวิทยาลัยคิวได จะมีชื่อเสียงด้าน medical science , engineering , computer science แต่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น อาจจะไม่สนใจมหาวิทยาลัยของไทยที่ยังไม่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ดังนั้น มหาวิทยาลัยฯ ควรวิเคราะห์ให้ชัดเจน และกำหนดทิศทาง เนื่องจากการแลกเปลี่ยนนักศึกษาหรือเรียนสาขาในประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ใช่สาขาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ อาจจะส่งผลต่อช่องทางการประกอบอาชีพของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น